วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เรื่อง อ่านป้ายได้สาระ
     การเดินทางสัญจรไปมาในที่ต่างๆ ทำให้เกิดประสบการณ์ชีวิตที่มีคุณค่า การเดินทางทางบกในระยะใกล้ๆ มักจะใช้พาหนะประเภทรถจักรยาน จักรยานยนต์ สามล้อ ถ้าเป็นระยะไกลๆก็จะใช้บริการรถประจำทาง ซึ่งมีทั้งรถปรับอากาศและรถธรรมดาที่มีลมโชยรอบทิศตลอดทาง แต่บางคนชอบใช้รถยนต์ส่วนตัว เช่น รถเก๋ง รถกระบะ รถตู้ รถจิ๊ป ฯลฯ
     ครอบครัวของฉันมีรถกระบะกลางเก่ากลางใหม่อยู่คันหนึ่ง เวลาเดินทาง คุณพ่อและคุณแม่จะนั่งตอนหน้า ส่วนฉันและน้องๆจะนั่งตอนหลัง คุณพ่อจะไม่ให้นั่งเฉยๆ จะคอยบอกเลขทะเบียนรถคันหน้าให้พวกเราบวกเลขแข่งกัน ซึ่งเมื่อคิดมากๆเข้าก็จะเกิดความเครียด ฉันและน้องจึงหาเกมสนุกๆเล่นกัน
     "เราอ่านป้ายข้างทางที่รถวิ่งผ่านแข่งกันดีไหม" แป้งร่ำเสนอ
     "จะอ่านทางซ้ายหรือทางขวาล่ะ หรือจะอ่านทางเดียวกันคะ" ป่านแก้วถามเพื่อความเข้าใจ
     "อ่านทางเดียวกันได้ไหมคะ โอปอจะได้อ่านด้วยคน" โอปอน้องเล็กเสนอบ้าง
     "ตกลงเริ่มต้นอ่านทางขวาก่อนเรยก็แล้วกัน เอ้า! เริ่ม หนึ่ง สอง สาม" แป้งร่ำอธิบายและให้สัญญาณ
     การแข่งขันอ่านป้ายข้างทางที่รถผ่านก็เริ่มขึ้น เด็กๆชิงกันอ่านป้ายทุกชนิด ป้ายบอกเส้นทาง ป้ายบอกหมู่บ้าน ตำบล จังหวัด ทางแยก ป้ายชื่อวัด สถานที่ทำการ ป้ายโครงการต่างๆ ป้ายเลือกตั้ง อบต. อบจ. สส. หรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ชื่อสินค้า บริษัท ห้างร้าน และแม้แต่ข้อความที่ป้ายหลักกิโลเมตร
     "แซงทางโค้ง จะอยู่โยงทางข้างทาง" เสียงโอปออ่าน
     "ฮื้อ" แป้งร่ำและป่านแก้วอุทานและถามพร้อมกัน "ป้ายไหนโอปอ"
     "ก็ป้ายที่อยู่ข้างทางนั่นไง" โอปอตอบให้หายสงสัย
     "อดีตไม่ขยัน ปัจจุบันไม่ขวนขวาย ไม่ต้องทายอนาคต" ป่านแก้วอ่านเมื่อสิบล้ออีกคันวิ่งแซงขึ้นไป
     "มีเงินนับเป็นน้อง มีทองนับเป็นพี่" โอปออ่านท้ายรถอีกคัน
     "นี่คันนี้ซิมาแรง รักสิบล้อ รอสิบโมง" แป้งร่ำอ่านอย่างถูกใจ
     "ทำไมต้องรอสิบโมงล่ะ พี่แป้ง" โอปอถามด้วยความสงสัย
     "มีกฎจราจรห้ามรถบรรทุกสิบล้อวิ่งในชั่วโมงที่มีรถพลุกพล่าน เช่น ช่วงเวลาเช้าผู้คนไปทำงาน นักเรียนไปโรงเรียน ช่วงเวลาเย็นโรงเรียนเลิก ผู้คนเลิกทำงาน จึงจำกัดเวลาการวิ่งของรถสิบล้อในช่วงเวลานั้นให้วิ่งได้ตั้งแต่สิบโมงเป็นต้นไป" แป้งร่ำอธิบาย
     "พี่แป้ง พรุ่งนี้เปิดเรียนคุณครูจะให้ส่งหัวข้อทำโครงงานภาษาไทย ป่านยังคิดไม่ออกเลย" ป่านแก้วพูดเสียงอ่อยๆ
      "แหมน้องรัก ใกล้เกลือกินด่างจริงๆเลย โครงงานน่ะง่ายเหมือนปลอกกล้วยเข้าปากเชียวละ" แป้งร่ำพูดไว้เชิง เมื่อเห็นน้องมองด้วยความอยากรู้จึงอธิบาย
     "ที่เราแข่งกันอ่านป้ายต่างๆแข่งกันอ่านคำคล้องจองท้ายรถ เราสามารถจะนำไปทำหัวข้อโครงงาน เพื่อศึกษาค้นคว้าให้รู้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นได้ทั้งนั้น ป่านสนใจอยากรู้เกี่ยวกับอะไรล่ะ" แป้งร่ำอธบายแล้วย้อนถาม
     "รถเยอะแยะ โอปออยากรู้ว่ามีรถอะไรบ้าง" โอปอร่วมคิดและพูดแซงขึ้นมา
     "ประเภทของรถ หรือยี่ห้อของรถล่ะ" แป้งร่ำซักไซ้
     "โอปออยากรู้ประเภทของรถที่ใช้กันอยู่ทุกๆวันค่ะ" โอปอตอบ
     "ถ้าอย่างนั้นโอปอก็มีหัวข้อทำโครงงานแล้วล่ะ แล้วโอปออยากรู้เรื่องนี้เพื่ออะไร" แป้งร่ำไล่เลียง
     "โอปอจะได้มีความรู้เกี่ยวกับรถต่างๆ รถรูปร่างแปลกๆ การใช้งานแล้วโอปอจะได้อ่านและเขียนประเภทของรถได้ค่ะ" โอปอตอบเสียงใส
     "แล้วโอปอจะทำอย่างไรจึงจะรู้ล่ะ" แป้งร่ำซักต่อ
     "โอปอดูจากโฆษณาซิ มีรูปรถเยอะเลย สารานุกรมในห้องสมุดก็มี" ป่านแก้วช่วยออกความคิด
 "ช่วยแต่คนอื่นแล้วป่านล่ะ คิดออกหรือยังว่าสนใจหรืออยากรู้เกี่ยวกับอะไร" แป้งร่ำถามน้อง "เพื่อนของพี่เคยทำโครงงานนิทานไทยสนุกมากเลย เวลาที่เขาเล่านิทานให้ฟัง บางเรื่องก็เคยอ่าน บางเรื่องก็ไม่เคยได้ยิน ทำให้เพื่อนๆได้ความรู้ไปด้วย ยิ่งตอนนำเสนอรายงานโครงงานืเขาแต่งตัวเป็นนางแก้วหน้าม้าคนหนึ่ง อีกคนแต่งเป็นเงาะป่า พี่ยังประทับใจไม่ลืมเลย" แป้งร่ำเล่าประสบการณ์ให้น้องฟัง
     "ถ้างั้นที่ป่านนึกเอาไว้ก็น่าสนุก น่าสนใจเชียวละพี่แป้ง" ป่านแก้วพูด "พี่แป้งต้องช่วยบอกขั้นตอนการทำโครงงานให้ป่านด้วยนะคะ" ป่านแก้วร้องขอ เมื่อแป้งร่ำพยักหน้า ป่านแก้วจึงพูดอธิบายโครงงานที่ตนสนใจ "ตอนเราอ่านป้ายกัน มีทั้งป้ายภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญีปุ่นก็มี ป่านจะทำโครงงานชื่อร้านค้าภาษาต่างประเทศได้ไหมพี่แป้ง" ป่านแก้วพูดเชิงปรึกษา
     "ทำไมจึงสนใจเรื่องนี้ล่ะ" แป้งร่ำถาม
     "ป่านคิดว่าควรจะรู้ภาษาต่างๆที่ปะปนอยู่ในภาษาไทย และอยากรู้ว่าแต่ละสำเนียงเขียนเป็นภาษาไทยอย่างไร จะได้เขียนได้ถูกต้อง" ป่านแก้วชี้แจง
     "แล้วป่านจะได้ความรู้อะไร" แป้งร่ำถามต่อ
     "รู้สำเนียงภาษา และรูปแบบการเขียนเป็นภาษาไทยจะได้อ่านได้ถูกต้อง" ป่านแก้วบอก
     "ป่านคิดว่าจะได้ผลอย่างไร" แป้งร่ำถามอีก
     "ป่านก็คงจะรวบรวมคำภาษาต่างประเทศที่ใช้ในภาษาไทยจะได้อ่านได้บ้างและคาดว่าน่าจะอ่านคล่อง เขียนคล่องขึ้นด้วย" ป่านแก้วบอกอย่างไม่แน่ใจ
     "พี่เข้าใจแล้ว ป่านจะทำกี่คน ชื่อโครงงานกว้างมากเลยนะ ร้านค้าทั่วประเทศเลยหรือน้อง" แป้งร่ำท้วงติง
     "พี่ว่าควรกำหนดขอบเขตแค่ร้านค้าในหมู่บ้านหรือชุมชนของเราก็น่าจะพอ ชื่อร้านค้าภาษาไทยก็น่าสนใจนะน้อง" แป้งร่ำพูด
     "ขอบคุณค่ะพี่แป้ง ป่านทำงานเป็นทีมมีป่าน เอิร์ธ อาย และหมวย" ป่านแก้วบอก
     "เริ่มต้นก็แบ่งกันไปสำรวจแล้วจดชื่อร้านค้ามาทั้งหมด นำชื่อมาแจกแจงว่าเป็นสำเนียงภาษาใด ถ้าไม่แน่ใจก็เปิดพจนานุกรม ถ้าไม่พบก็ถามคุณครู คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้รู้ได้ทุกท่าน แล้วสรุปจัดทำเป็นสถิติว่าสำเนียงภาษาใดมีเท่าใด และเพื่อให้เพื่อนมีส่วนร่วม ก็ควรใช้แบบสอบถาม ถามเพื่อนๆด้วย ทั้งชื่อร้านค้าและคำอ่านแล้วนำมาสรุปเป็นการอ่านของเพื่อนๆทั้งห้องเรียนได้ ส่วนการเขียนก็เช่นเดียวกัน สามารถให้เขียนตามสำเนียงการอ่าน แล้วสรุปเป็นการเขียนของเพื่อนทั้งห้อง นำการสรุปของแต่ละด้านมาจัดทำเป็นสถิติไว้ จัดทำรายงานโครงงานตามรูปแบบโดยปรึกษาคุณครู แล้วก็เตรียมตัวนำเสนอโครงงานในรูปของกราฟ แผนภูมิ หรืออื่นๆ แล้วแต่จะออกแบบให้น่าสนใจ พร้อมทั้งเสนอแนะด้วยว่า โครงงานของเรามีประโยชน์ในด้านใด และมีประโยชน์อย่างไร" แป้งร่ำอธิบายอย่างละเอียด
     "ป่านจะไปปรึกษาเพื่อน แต่การนำเสนอป่านคิดไว้ว่า ป่านจะแต่งตัวเป็นเด็กไทยนุ่งโจงกระเบนใส่เสื้อคอกระเช้า เอิร์ธแต่งฝรั่ง หมวยแต่งจีน อายจะแต่งเป็นญี่ปุ่นหรือแขกยังไม่แน่ใจ ต้องศึกษาคำที่สำรวจได้เสียก่อนว่าภาษาใดจะมากกว่ากัน" ป่านแก้วอธิบาย
     "พี่ป่าน ภาษาแขกในชุมชนของเรามีด้วยหรือ" โอปอถามทันทีด้วยความอยากรู้
     "มีสิ คำที่เป็นภาษาบาลีและสันสกฤตนี่แหละเป็นภาษาแขกหรืออินเดียล่ะ" แป้งร่ำอธิบาย
     "คำบาลีสันสกฤตที่นำมาใช้ในภาษาไทยมีมาก มีทั้งคำทางศาสนา วัน เดือน ปี คำราชาศัพท์ ชื่อโรคบางชนิด และคำศัพท์ทางวิชาการต่างๆ" แป้งร่ำอธิบายเพิ่มเติม
     "ขอบคุณคะ พี่แป้ง ที่อธิบายให้ป่านเข้าใจการทำโครงงานจนแจ่มแจ้งเลยค่ะ" ป่านแก้วพูดยิ้มแย้ม
     "โอปอก็ขอบคุณพี่แป้งมากเลยนะคะ ที่คิดอะไรสนุกๆมาให้พวกเราเล่นกัน โอปอรักพี่แป้งนะคะ รักพี่ป่านด้วยค่ะ" โอปอพูดด้วยน้ำเสียงออดอ้อน
     "ดีแล้วละลูก เป็นพี่น้องต้องรักกัน เป็นพี่ต้องคอยช่วยเหลือแนะนำน้อง พ่อและแม่ภูมิใจในตัวลูกมากจ้ะ" พ่อบอกอย่างภูมิใจและหันมายิ้มกับแม่อย่างมีความสุข